ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ของสหราชอาณาจักร ค้นพบวิธีการบำบัดเพื่อชะลอวัยแบบใหม่ โดยใช้กระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ กระตุ้นที่ใบหูเพื่อรักษาสมดุลของระบบประสาทในร่างกาย ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อวัยวะสำคัญหลายชิ้นทำงานเป็นปกติ
ผลการศึกษาข้างต้นตีพิมพ์ในวารสาร Aging โดยทีมผู้วิจัยชี้ว่า การกระตุ้นใบหูด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 (Vagus nerve) ซึ่งเชื่อมต่อกับหัวใจ ปอด และลำไส้ ทำให้ผู้สูงวัยที่เข้ารับการบำบัดมีสุขภาพร่างกาย อารมณ์ และการนอนหลับดีขึ้น
ทีมผู้วิจัยอธิบายว่าใบหูเป็นเสมือนประตูสู่ระบบประสาทภายในร่างกาย โดยผิวของหูชั้นนอกบางส่วนเชื่อมต่อกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 บางแขนง ทำให้สามารถจะกระตุ้นเส้นประสาทดังกล่าวด้วยไฟฟ้าผ่านใบหูได้โดยไม่เจ็บ ผู้รับการบำบัดบางรายบอกว่ารู้สึกเหมือนถูกจั๊กจี้เท่านั้น
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 มีความยาวมากและเชื่อมต่อกันเป็นอย่างดีทั่วร่างกาย ทำหน้าที่สื่อสัญญาณข้อมูลจากสมองไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั้งยังเป็นพื้นฐานของระบบประสาทอัตโนมัติ (ANS) ซึ่งประกอบด้วยระบบประสาทซิมพาเทติก (SNS) และระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (PNS) โดยระบบประสาทเหล่านี้ช่วยควบคุมการหายใจ การย่อยอาหาร ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจด้วย
ทีมผู้วิจัยเชื่อว่าเมื่อคนเราแก่ชราลง สมดุลการทำงานระหว่างระบบประสาทซิมพาเทติกและพาราซิมพาเทติกจะเริ่มรวนเร โดยระบบประสาทซิมพาเทติกที่เตรียมร่างกายให้พร้อมรับภาวะฉุกเฉินจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือกว่า ทำให้คนแก่มีปัญหาความดันโลหิตสูง เป็นโรคหัวใจ ซึมเศร้าวิตกกังวลง่าย ในขณะที่ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกซึ่งช่วยให้ผ่อนคลายและช่วยย่อยอาหารจะเริ่มทำงานน้อยลง
มีการทดลองให้อาสาสมัครสุขภาพดีอายุ 55 ปีขึ้นไป จำนวน 29 คน เข้ารับการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าที่ใบหูทุกวันเป็นเวลา 15 นาที โดยกระตุ้นติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ปรากฏว่าวิธีนี้สามารถบำบัดภาวะระบบประสาททำงานไม่สมดุลกันอย่างได้ผล โดยพบว่าระบบพาราซิมพาเทติกมีการทำงานเพิ่มสูงขึ้น ส่วนระบบซิมพาเทติกทำงานลดลง
ดร. เบียทริซ เบรเทอร์ตัน หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "ผลการทดสอบในกลุ่มเล็กครั้งนี้ยังเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง เรายังคงจะต้องศึกษาต่อไปให้ลึกซึ้งถึงผลระยะยาวของการบำบัด รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นต่อการรักษาโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นกรณีหัวใจล้มเหลว ลำไส้แปรปรวน หรือโรคซึมเศร้า"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น