บรรดาคนดังและผู้นำประเทศหลายคน เช่นนายโดนัลด์ ทรัมป์และนางอังเกลา แมร์เคิลต่างเคยกล่าวอ้างว่า ตนเองประสบความสำเร็จได้เพราะทำงานหนักและนอนน้อยมากเพียง 4 ชั่วโมงต่อคืน ทั้งยังบอกว่าพฤติกรรมการนอนแบบนี้ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใดด้วย
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโก (UCSF) ของสหรัฐฯ รายงานว่าพบยีนกลายพันธุ์ชนิดหายากในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งยีนนี้จะทำให้เซลล์สมองตื่นตัวได้ง่ายกว่าและยาวนานกว่าคนทั่วไป
- นอนอย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ
- เหตุใดบางคนจึงมีคุณสมบัติทางกายภาพเหนือคนทั่วไป?
- ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เหมือนนักเตะพรีเมียร์ลีก
ผลการค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Neuron โดยทีมผู้วิจัยระบุว่าคนที่มียีน ADRB1 ชนิดกลายพันธุ์ จะต้องการเวลาเพื่อนอนหลับพักผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่าคนทั่วไปโดยเฉลี่ยราว 2 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถนอนหลับเพียงคืนละ 4 ชั่วโมง และตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลีย
กลุ่มผู้มียีนกลายพันธุ์ดังกล่าวซึ่งมีอยู่น้อยมาก ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นคนมีพลังกระฉับกระเฉง ทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน มองโลกในแง่ดี อดทนต่อความเจ็บปวดได้สูง ไม่มีอาการเจ็ตแล็กจากการโดยสารเครื่องบินข้ามเขตเวลา และอาจจะมีอายุยืนยาวกว่าคนทั่วไปด้วย ปัจจุบันทีมผู้วิจัยพบการถ่ายทอดยีนกลายพันธุ์ดังกล่าวใน 50 สายตระกูลเท่านั้น
มีการทดลองตัดต่อพันธุกรรมให้หนูมียีน ADRB1 แบบที่กลายพันธุ์เช่นเดียวกับในมนุษย์ แล้วพบว่าหนูดังกล่าวจะนอนน้อยลงโดยเฉลี่ยวันละ 55 นาที ซึ่งแสดงว่ายีนกลายพันธุ์ดังกล่าวทำให้วงจรการนอนหลับตามธรรมชาติของคนและสัตว์หดสั้นลง
การนอนน้อยที่เป็นผลมาจากพันธุกรรมนี้ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเหมือนกับการอดนอนของคนทั่วไป ซึ่งปกติแล้วมักส่งผลเสียต่อระบบเผาผลาญและระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อม โรคมะเร็ง รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย
ศาสตราจารย์ ฝู หยิงฮุย ผู้นำทีมวิจัยกล่าวว่า ยังไม่ทราบชัดถึงกลไกการทำงานของยีนกลายพันธุ์ที่ทำให้คนเรานอนน้อยลงได้โดยยังรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่พบว่าเซลล์ประสาทบางส่วนของหนูทดลองในก้านสมอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการนอนหลับนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยจะอยู่ในภาวะที่ตื่นตัวมากกว่าของหนูอื่น ๆ ขณะที่ไม่ได้นอนหลับ
- นอนเพียง 6 ชม.ต่อคืนหรือน้อยกว่า ทำให้ร่างกายขาดน้ำ
- สุขภาพเสียเพราะอดนอนในวันทำงานแก้ได้ หากงีบเพิ่มในวันหยุด
- คุณนอนเต็มอิ่มไหม?
ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยของ ศ. ฝู ได้เคยค้นพบการกลายพันธุ์ของยีน DEC2 ที่ทำให้คนเราสามารถจะนอนน้อยลงจากค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อคืน มาเป็นเพียง 6.25 ชั่วโมงต่อคืนมาแล้ว แต่ยีนกลายพันธุ์ดังกล่าวพบได้ในกลุ่มประชากรจำนวนน้อยมาก
"อาจมีการกลายพันธุ์ของยีนเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่ดีและให้ประโยชน์ แต่มันยังคงไม่แพร่หลายในวงกว้างพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ซึ่งนอน 8 ชั่วโมง เปลี่ยนพฤติกรรมมานอนน้อยลง" ศ. ฝู กล่าว
"ในอนาคตเราอาจผลิตยาที่ทำให้มนุษย์นอนน้อยลงได้แต่มีสุขภาพดีขึ้น หรือพัฒนายาที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอน โดยเลียนแบบกลไกการทำงานของยีนกลายพันธุ์ตัวนี้"
แหล่งที่มา
แหล่งที่มา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น