วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ค้นพบ “อวัยวะ” ชิ้นใหม่ ทำหน้าที่ช่วยรับรู้ความเจ็บปวด

 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันคาโรลินสกาของสวีเดน เผยผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร Science ว่าได้ค้นพบหน้าที่การทำงานแบบใหม่ของเซลล์ชนิดหนึ่งที่อยู่รอบเซลล์ประสาท โดยเซลล์ชนิดนี้ช่วยรับรู้ความเจ็บปวดร่วมกับเซลล์ประสาทในผิวหนังชั้นนอกและทำงานสอดประสานกันไม่ต่างจากอวัยวะชิ้นหนึ่ง
ทีมผู้วิจัยบอกว่าเซลล์ดังกล่าวคือเซลล์ชวานน์ (Schwann cell) ซึ่งเป็นเซลล์ค้ำจุนที่คอยห่อหุ้มปกป้องเซลล์ประสาทเอาไว้ให้มีชีวิตรอด แต่ที่ผ่านมาเซลล์ชนิดนี้ไม่สู้ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร
ผลการศึกษาพบว่าเซลล์ชวานน์บางประเภทที่มีรูปร่างคล้ายปลาหมึกยักษ์และอยู่ใต้ผิวหนังชั้นนอก กลับแผ่ขยายปกคลุมเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดไปจนถึงชั้นหนังกำพร้า ซึ่งแต่เดิมนักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า ส่วนปลายของเซลล์ประสาทในบริเวณผิวหนังชั้นนอกสุดไม่มีเซลล์ค้ำจุ้นห่อหุ้มอยู่
แต่การค้นพบที่สร้างความประหลาดใจมากที่สุดในครั้งนี้ก็คือ เซลล์ชวานน์ดังกล่าวสามารถรับความรู้สึกเจ็บจากผิวหนัง และส่งสัญญาณประสาทสื่อความรู้สึกนั้นไปยังสมองผ่านทางเซลล์ประสาทได้ด้วย
มีการทดลองเพื่อพิสูจน์ความสามารถของเซลล์ดังกล่าว โดยใช้หนูที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมให้เซลล์ชวานน์ที่ฝ่าเท้าถูกกระตุ้นได้ด้วยแสง เมื่อนักวิจัยฉายไฟส่องส่วนเท้าของหนู พวกมันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเช่นยกเท้าขึ้น เขย่าหรือเลียฝ่าเท้าบ่อยครั้งขึ้น รวมทั้งทำท่าปกป้องคุ้มกันส่วนเท้า ซึ่งล้วนเป็นอาการที่แสดงถึงความรู้สึกเจ็บปวดจากการกระตุ้นเซลล์ชวานน์นั่นเอง
เมื่อนำหนูทดลองข้างต้นไปสัมผัสความร้อน ความเย็น และพื้นผิวที่ให้ความรู้สึกเหมือนเข็มแทง ทีมผู้วิจัยพบว่าหนูจะแสดงอาการทุรนทุรายเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อฉายไฟกระตุ้นเซลล์ชวานน์ไปด้วย แต่จะมีท่าทีสงบลงเมื่อไม่ได้ฉายไฟดังกล่าว ซึ่งปรากฏการณ์นี้ยืนยันว่าเซลล์ชวานน์สามารถรับรู้ความเจ็บปวด และส่งความรู้สึกเจ็บให้กับเซลล์ประสาทเพื่อส่งต่อไปยังสมองได้
แม้จะยังไม่ได้ทำการทดลองแบบเดียวกันในมนุษย์ แต่ศาสตราจารย์พาทริก แอร์นฟอร์ส หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "เซลล์ชวานน์และเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเจ็บนั้นอยู่ร่วมกันและทำงานสอดประสานกัน เท่ากับว่าพวกมันรวมตัวกันเป็นอวัยวะอีกชิ้นหนึ่ง"
"นอกจากนี้ เรายังสงสัยว่าเซลล์ชวานน์ดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุของอาการเจ็บปวดเรื้อรังบางอย่างที่ยังรักษาไม่ได้ หากเรามีความเข้าใจกลไกการทำงานของเซลล์ชนิดนี้มากขึ้น เราจะสามารถพัฒนายาแก้ปวดรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า" ศ. แอร์นฟอร์สกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข้อสอบ O-NET ปี 2550

ข้อที่ 1. สารชีวโมเลกุลชนิดใดมีมากที่สุดของน้ำหนักแห้งในร่างกายคน ตัวเลือกที่ 1 : ไขมัน ตัวเลือกที่ 2 : โปรตีน ตัวเลือกที่ 3 : คาร์ไบ...