LGBT : วิจัยชี้ไม่พบ "ยีนเกย์" หน่วยพันธุกรรมเฉพาะที่ทำให้รักเพศเดียวกัน
ผลการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมครั้งใหญ่กับกลุ่มประชากรเกือบ 5 แสนคนพบว่า "ยีนเกย์" หรือหน่วยพันธุกรรมซึ่งทำหน้าที่กำหนดให้มนุษย์มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันโดยเฉพาะนั้น เป็นเพียงความเชื่อล้าสมัยที่ไม่มีอยู่จริง
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติตีพิมพ์ผลการวิจัยข้างต้นในวารสาร Science โดยระบุว่าได้วิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมจำนวนมากที่ได้จากคลังข้อมูลชีวภาพของสหราชอาณาจักร (UK Biobank) และจากฐานข้อมูลของบริษัท 23andMe ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นธุรกิจรับตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอให้กับบุคคลทั่วไป
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลทางพันธุกรรมของกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิงราว 4% ซึ่งบอกว่าเคยมีประสบการณ์ทางเพศกับเพศเดียวกันมาแล้ว กับข้อมูลทางพันธุกรรมของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่ากลุ่มที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันมีความผันแปรทางพันธุกรรมที่แตกต่างจากคนทั่วไป (genetic variations) ในยีนอย่างน้อย 5 ตัว
- พันธุกรรมและแอนติบอดีเพิ่มโอกาสเป็นเกย์ให้สูงขึ้น
- ส.ส. ข้ามเพศคนแรกของรัฐสภาไทย กับการแต่งกายตามเพศสภาพ และก้าวแรกของความเป็นมนุษย์เท่ากัน
- ทูตอังกฤษประจำไทย คู่สมรสเพศเดียวกันลูก 3 ที่แสดงให้โลกประจักษ์ว่าคู่รักเพศเดียวกันก็มีครอบครัวอบอุ่นได้
อย่างไรก็ตาม ยีนที่มีความผันแปรเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันในทางอ้อมทั้งสิ้น เช่นเกี่ยวข้องกับการรับรู้กลิ่นและการผลิตฮอร์โมนเพศ แต่ไม่มียีนตัวไหนเลยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นคนรักเพศเดียวกันโดยตรง
ทีมผู้วิจัยประเมินว่า ยีนที่มีความผันแปรดังกล่าวมีโอกาสจะทำให้เกิดพฤติกรรมแบบชาวสีรุ้งได้เพียง 1% เท่านั้น และปัจจัยทางพันธุกรรมโดยรวมมีผลทำให้คนเป็นเกย์ได้อย่างมากเพียง 25% โดยยังมีปัจจัยทางชีวภาพและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เข้ามามีอิทธิพลร่วมด้วย คล้ายกับเรื่องของความสูงที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลายนอกเหนือไปจากพันธุกรรม
รองศาสตราจารย์ เบ็น นีล จากสถาบัน Broad Institute ของเอ็มไอทีและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนึ่งในทีมผู้วิจัยกล่าวว่า "พันธุกรรมมีผลไม่ถึงครึ่งในเรื่องของพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน แม้จะยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอยู่"
"อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ชี้ว่าไม่มียีนตัวใดตัวหนึ่งที่เป็นยีนเกย์โดยเฉพาะ ดังนั้นการตรวจดีเอ็นเอเพื่อให้ทราบว่าใครจะเป็นเกย์หรือไม่นั้น ไม่สามารถทำได้"
- ทำไมธงเกย์จึงเป็นธงสีรุ้ง?
- มองมุมต่าง "เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ"
- "มีมี่ เทา" : ไร้โอกาสในบ้านเกิด นางแบบข้ามเพศไทยไปดังในอเมริกา
ด้านดร. จารุพล สถิรพงษะสุทธิ นักวิจัยอาวุโสของ 23andMe บอกว่า ผลการศึกษานี้สนับสนุนจุดยืนทางสิทธิมนุษยชนที่ว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมชาติ และไม่ควรพยายามคิดค้นวิธี "รักษา" หรือแก้ไขความเป็นเกย์ ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใดทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ความเชื่อที่ว่ามี "ยีนเกย์" ซึ่งกำหนดพฤติกรรมรักเพศเดียวกันโดยเฉพาะนั้น มาจากงานวิจัยของ ดร. ดีน แฮเมอร์ นักพันธุศาสตร์ชาวอเมริกันเมื่อปี 1993 ซึ่งพบความเชื่อมโยงระหว่างเครื่องหมายดีเอ็นเอ (DNA marker) บนโครโมโซมเอกซ์ (X) กับพฤติกรรมทางเพศของผู้ชาย แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า พันธุกรรมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางเพศอย่างจำกัดและซับซ้อนยิ่งกว่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น